ดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย


ดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย

แนวคิดและหลักการในการจัดกิจกรรมดนตรีสำหรับเด็ก
ดนตรีจัดเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง ที่เด็กก่อนวัยเรียนควรจะได้รับจากกระบวนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของการจัดประสบการณ์ด้านดนตรีโดยตรงให้กับผู้เรียน หรือการใช้ดนตรีเพื่อช่วยเสริมการเรียนรู้ประสบการณ์ด้านอื่น ๆ เช่น ด้านภาษา ด้านสังคม หรือด้านพลศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่า ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเด็ก และเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการพัฒนาเด็กในช่วงปฐมวัย คุณค่าที่สำคัญประการหนึ่งของดนตรี คือดนตรีจะให้โอกาสเด็กได้แสดงออกอย่างเปิดเผย โดยไม่มีความหวาดกลัว หรืออิจฉาไม่สบายใจ ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการร้องเพลง การตอบสนองทางร่างกายต่อจังหวะ การมีส่วนร่วมในการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ การเล่นเครื่องดนตรี และการฟังเพลง ประสบการณ์ทางดนตรีจะสร้างความรักและความชื่นชมต่อดนตรี โดยการให้เด็กมีส่วนในกิจกรรมทางดนตรี การจัดโครงการในการสอนดนตรีที่ดี ควรมีกิจกรรมและประสบการณ์ดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งจะทำให้เด็กปฐมวัยได้สนองความต้องการและความสนใจของตน และดนตรียังเป็นการช่วยให้เด็กเข้าใจถึงวัฒนธรรมและผู้คนด้วย
                เด็กปฐมวัยควรมีโอกาสที่จะสำรวจดนตรีชนิดต่าง ๆ ทั้งเพลงร่วมสมัย เพลงที่กำลังเป็นที่นิยม เพลงพื้นบ้าน เพลงไทยเดิม และเพลงของชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กได้คิดทำนองให้สอดคล้องกับเพลงที่เขารู้จักมาก่อน เครื่องบันทึกเสียงจะช่วยได้มากในการอัดเพลงที่เด็กแต่งด้วยตัวเอง

ความหมายของดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย
            เด็กทั่วไปมักจะชอบเสียงดนตรี จะเห็นได้ว่าเด็กเริ่มตั้งแต่วัยทารก อยู่ในบรรยากาศของเพลงห่กล่อมของบิดา มารดา และผู้คนที่อยู่โดยรอบตัว ธรรมชาติของเด็กเมื่อได้ยินเสียงเพลง ก็จะฟังอย่างตั้งใจ สีหน้าจะแสดงความรื่นรมย์ สบายอกสบายใจ อาจจะมีการขยับแขนขา ขยับมือขยับเท้า โยกตัวไปมาตามจังหวะเพลงหรือดนตรี สิ่งเหล่านี้เป็นไปตามอัตโนมัติอย่างแทบจะไม่ต้องสอนกันเลย
                สำหรับความหมายของดนตรีมีผู้กล่าวถึงเอาไว้ ดังต่อไปนี้
                ณรุทธ์  สุทธจิตต์ (2532 : 32) กล่าวว่า ดนตรี (MUSIC) คือ ภาษาหนึ่งซึ่งใช้ถ่ายทอดความรู้สึกซึ่งภาษาในลักษณะอื่นไม่สามารถถ่ายทอดได้ แทนที่จะเป็นคำพูดหรือท่าทาง ดนตรีจะใช้เสียงและจังหวะเป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้สึกโดยนัยแห่งภาษาที่คนใช้สื่อสารกัน เด็กแรกเกิดจะเริ่มได้ยินเสียงต่าง ๆ ที่เขาไม่สามารถเข้าใจแม้กระนั้นก็ตามภายในสองสามปีให้หลังเด็กจะมีความเข้าใจในภาษาที่ใช้สื่อสาร และภาษาดนตรี บิดา มารดา ครู และผู้ที่อยู่ใกล้ชิดมีส่วนช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางดนตรีได้อย่างมาก
                หรรษา  นิลวิเชียร  (2535 : 1895) กล่าวว่า กิจกรรมดนตรีเป็นศิลปะเชิงการแสดงออก (Expressive Art) ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญงอกงามและการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ดนตรีเป็นประสบการณ์สำคัญส่วนหนึ่งของหลักสูตรปฐมวัย เด็กเรียนรู้การฟัง การเคลื่อนไหว การร้องเพลง และการเล่นเครื่องดนตรีง่าย ๆ ในห้องเรียนไปด้วยบรรยากาศที่ส่งเสริมทางด้านดนตรี
                ดนตรีซึ่งอยู่ในรูปแบบของกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยให้เด็กได้พัฒนาความมั่นคงของอารมณ์ ความรู้สึก และทางด้านสังคม ช่วงวัยต้น ดนตรีทำให้เด็กรู้สึกพอใจจากการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างอื่น บางคนชอบฟังอย่างเดียว และไม่ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเคลื่อนไหวอื่น ๆ เลยก็เป็นไปได้

ความสำคัญของดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย
                พัชรี  วาศวิท (2534 : 38-48) กล่าวว่า ดนตรีเข้ามามีบทบาท และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะเด็กปฐมวัย ดนตรีเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กในวัยนี้เพราะว่าดนตรีทำให้เด็กเกิดความรู้สึกเป็นสุขสนุกสนาน ทำให้เขาได้ใช้จินตนาการความนึกฝันของส่วนตัว เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์บุคลิกภาพ ลักษณะนิสัย และสังคมของเด็กให้พัฒนาได้อย่างเหมาะสมกับวัยของเด็ก ถ้าเด็กได้รับการส่งเสริมให้ได้แสดงออกทางดนตรีเด็กจะได้พัฒนาทางด้านจิตใจ อารมณ์ ความคิด จินตนาการ สังคม การสื่อความหมาย และการถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนลักษณะลีลาท่าทางที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้เด็กมีความมั่นคงทางอารมณ์มีสุขภาพจิด และสุขภาพกายดี ตลอดจนเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง
                ณรุทธ์  สุทธจิตต์ (2532 : 33) กล่าวถึง ความสำคัญของดนตรีว่าบุคคลทั่วไปมักจะรู้สึกว่าดนตรีมีประโยชน์ต่อเด็ก อย่างไรก็ตามคงจะมีน้อยคนที่เข้าใจบทบาทของดนตรีกับเด็กปฐมวัยอย่างแท้จริง และแม้ว่ามีบุคคลบางคนจะทราบถึงการให้การศึกษาด้านดนตรีกับเด็ก แต่ก็มีหนังสือไม่กี่เล่มที่กล่าวถึงดนตรีกับเด็กปฐมวัยจึงเป็นการสมควรที่บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นบิดามารดาควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ในการจัดสภาพแวดล้อม และช่วยเหลือสนับสนุนให้เด็กในวัยนี้มีวิทยาการทางดนตรีที่ถูกต้องสมบูรณ์เพื่อเป็นพื้นฐานในการศึกษาดนตรีต่อไป
                พิชัย  ปรัญานุสรณ์ (2535 : 69-70) ได้กล่าวถึงคุณค่าของดนตรีเอาไว้ 4 ประการ ดังนี้
                                ประการแรก การเข้าถึงเป้าหมายในการเล่นดนตรี เกิดความรู้สึกทางสุนทรียภาพทางดนตรี เห็นความไพเราะ ความงามของเสียง เข้าใจเรื่องราวที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้งได้ดี มีความสามารถในการจินตนาการ และสร้างสรรค์ มีความพอใจในขณะที่กำลังอยู่กับเสียงดนตรี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ เช่น
-                   รักที่จะเล่นดนตรีเป็นประจำ สม่ำเสมอ โดยพ่อแม่ไม่ต้องคอยตักเตือน
-                   รักสวยรักงาม
-                   จัดระเบียบชีวิตของตนเองได้
-                   แสดงความรักพ่อแม่โดยเกิดความคิดอยากจะแสดงดนตรีให้ในงานสำคัญ ๆ เช่น งานวันเกิด เป็นต้น
ประการที่สอง  ขณะที่กำลังอยู่ในกิจกรรมดนตรี ไม่ว่าเล่น ร้อง หรือฟัง เด็กจะมี
สมาธิ เข้าถึงดนตรีเร็วขึ้น ถึงคราวที่จะแสดงเอง ก็เล่นด้วยความเต็มใจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง พร้อมที่จะถ่ายทอดอารมณ์ออกมาให้ดีที่สุด เหมือนตัวละครที่ได้รับมอบบทบาทและซ้อมมามากแล้ว
                                ประการที่สาม  เด็กมีโอกาสสัมผัสกับความหลากหลายของเพลงและดนตรี จึงเป็นการเปิดโลกทรรศน์มองหลายมุม มีจิตใจกว้างขวาง ค้นพบและเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และในที่สุดก็ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัวได้
                                ประการที่สี่  มีความสุขกับเสียงดนตรีที่ได้ยิน ฟังดนตรีด้วยความซาบซึ้ง เพราะเข้าใจภาษาดนตรีแล้วภาษาดนตรีซึ่งบางครั้งก็อธิบายด้วยภาษาพูดไม่ได้ แต่เป็นภาษาของอารมณ์ที่อยู่ลึกไปในความคิด และอารมณ์ของแต่ละคน
                                ประการสุดท้าย  ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในสถานการณ์ใดเมื่อเติบโตขึ้น เช่น ต้องพบกับความสุข ความดีใจ ความไม่สมหวัง ความเศร้าเสียใจ หรือแม้กระทั่งความเจ็บไข้ได้ป่วย ดนตรีที่มีอารมณ์อันหลากหลายนี้ก็จะเป็นเพื่อนที่ดีคอยเฝ้าปลอบประโลมให้กำลังใจตลอดไป

จุดมุ่งหมายของการสอนดนตรี
ถ้าจะกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหรือคุณค่าของดนตรีสำหรับเด็กปฐมวัย เบย์เลสและแรมซี่ (Bayless & Ramsey. 1978 : VII) กล่าวถึงการจัดประสบการณ์ทางดนตรีให้กับเด็กปฐมวัยว่าควรมีเป้าหมายดังต่อไปนี้
1.             เพื่อจัดประสบการณ์ทางดนตรีที่หลากหลาย ซึ่งจะนำความสนุกสนาน และ
ความพอใจให้กับเด็ก
2.             เพื่อตระหนักและเตรียมประสบการณ์ทางดนตรี ที่เหมาะสมให้กับเด็ก โดย
เน้นเสริมสร้างประสบการณ์ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา
3.             ให้โอกาสเด็กให้ฟังเพลง สร้างเพลง ร้องเพลง เคลื่อนไหวตามจังหวะ และ
ทดลองเกี่ยวกับเสียง
4.             ให้เด็กได้มีโอกาสได้รับประสบการณ์ทางดนตรี โดยเน้นศิลปะการแสดงออก
(action arts) แต่ไม่ใช่ศิลปะการแสดง (performing arts) โดยเน้นความสนุกสนานจากการได้รับประสบการณ์ทางดนตรีมากกว่าคาดหวังผล
5.             เพื่อแนะนำความคิดรวบยอดทางดนตรีและความเข้าใจทางดนตรีที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก
6.             เพื่อกระตุ้นและช่วยเหลือเด็กที่ส่อแววพรสวรรค์ทางดนตรี ให้มีทักษะเพิ่มขึ้น
7.             เพื่อจัดประสบการณ์ทางดนตรี ซึ่งจะส่งเสริมการเรียนรู้ด้านอื่น ๆ เช่นด้าน
ภาษา ทักษะการฟัง การแยกแยะเสียง และความเข้าใจทางสังคม
8.             เพื่อจัดสิ่งแวดล้อมซึ่งเด็กจะรู้สึกเป็นอิสระที่จะสำรวจและได้รับประสบการณ์
ทางดนตรีที่หลากหลายซึ่งเป็นเพลงประจำชาติ ประจำเผ่าพันธุ์
9.             เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสแสดงตัวตนผ่านดนตรีในบรรยากาศที่เป็นอิสระ และ
เป็นที่น่าไว้วางใจ ซึ่งเด็กจะมีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์ และความคิดหลากหลาย
                ณรุทธ์  สุทธจิตต์ (2532 : 24) กล่าวถึงคุณค่าและจุดมุ่งหมายทางดนตรีสำหรับเด็กเอาไว้ ดังนี้
                                ประการแรก   ดนตรีช่วยพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ดนตรีจะเป็นตัวกระตุ้นให้เด็กคิดค้นทดลอง และแสดงออกโดยใช้ดนตรีเป็นสื่อ
                                ประการที่สอง  ดนตรีช่วยพัฒนาด้านการตอบสนองทางอารมณ์ของเด็ก เนื่องจากประสบการณ์ดนตรีจะเล้าให้
                                ประการที่สาม  ดนตรีช่วยพัฒนาด้านปัญญา โดยเหตุที่ดนตรีเป็นสื่อทำให้เด็กคิดและทำความเข้าใจกับเรื่องของเสียง และช่วยพัฒนาด้านการรับรู้ ตลอดจนการเชื่อมโยงแนวคิดต่าง ๆ
                                ประการที่สี่  ดนตรีช่วยพัฒนาการด้านภาษา เมื่อเด็กชอบ และต้องการร้องเพลง การเรียนรู้ทางด้านภาษาจึงเป็นทักษะพื้นฐานซึ่งเด็กต้องเรียนรู้ไปด้วย นอกจากนี้เด็กยังใช้ภาษาเป็นสื่อในการอธิบายความรู้สึกต่อดนตรี ซึ่งทำให้เด็กมีพัฒนาการใช้ภาษามากขึ้นด้วย
                                ประการที่ห้า  ดนตรีช่วยพัฒนาการด้านร่างกาย เนื่องจากประสบการณ์ทางด้านดนตรีเกี่ยวข้องกับการร้องเพลง การเล่นเครื่องดนตรี การเข้าจังหวะ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางด้านกล้ามเนื้อต่าง ๆ ดีขึ้น
                                ประการที่หก  ดนตรีช่วยพัฒนาความเป็นเอกัตบุคคล เนื่องด้วยประสบการณ์ด้านดนตรี ช่วยให้เด็กรู้จัก และเข้าถึงความสามารถของตน และยังช่วยให้เด็กเข้าใจเอกลักษณ์ และวัฒนธรรมของตนเองด้วย
                                ประการที่เจ็ด  ซึ่งเป็นประการสำคัญที่สุด คือ ดนตรีซึ่งเป็นศิลปะแขนงหนึ่งจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านสุนทรี ซึ่งจะนำไปสู่ความซาบซึ้งของดนตรีต่อไป ดนตรีจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านอารมณ์สุนทรี โดยการตอบสนองต่อองค์ประกอบดนตรี เช่นทำนอง จังหวะ ซึ่งเหล่านี้ช่วยให้เด็กรู้ซึ้งถึงความสวยงาม ความเต็มอิ่มในอารมณ์ และความงอกงามทางการรับรู้ สิ่งเหล่านี้มักจะถูกละเลยในการให้การศึกษาทั่วไปกับเด็ก การที่เด็กมีประสบการณ์ทางดนตรีจะช่วยเติมความรู้สึกความต้องการของเด็กให้เต็ม ซึ่งจะทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ มีจิตใจงอกงามควบคู่ไปกับความคิดความอ่านทางวิชาการด้านอื่น ๆ จึงอาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้ดนตรีของเด็กในวัยนี้มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ ช่วยให้เด็ก
1.             รู้สึกถึงคุณค่าทางอารมณ์อันเนื่องมาจากดนตรี
2.             เข้าถึงรูปแบบของเสียงและจังหวะของดนตรี
3.             แสดงออกทางดนตรีตามความรู้สึกที่เกิดขึ้น
4.             สนุกสนานไปกับดนตรี
5.             ได้สัมผัสกับความพึงพอใจทางสุนทรี อันเนื่องมาจากดนตรี
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัยซึ่งถ้าเราได้
ศึกษาแนวการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาลที่ 1-2 ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2522 ซึ่งโรงเรียนอนุบาลทั่วไปใช้เป็นแนวทางในการจัดหลักสูตรการเรียนการสอน จะพบว่าได้มีการบรรจุกิจกรรมทางดนตรีเอาไว้ในการจัดประสบการณ์แก่เด็กอนุบาล
                ความมุ่งหมายของแนวการจัดประสบการณ์ชั้นอนุบาลปีที่ 1-2 ของกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ พุทธศักราช 2522
                อนุบาลศึกษาเป็นการจัดอบรมเบื้องต้น เพื่อปลูกฝังกุลบุตรกุลธิดา ให้มีนิสัยอันดีงาม และเตรียมเขาให้พร้อมที่จะศึกษาในระดับต่อไป การจัดการศึกษาระดับอนุบาลมีความมุ่งหมายดังต่อไปนี้
1.             ส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยที่ดีเกี่ยวกับการกิน เล่น ออกกำลังกาย และพักผ่อนอย่างถูกต้อง
ตลอดจนรู้จักระวังรักษาตัวให้พ้นจากโรคภัยและอุบัติเหตุ

2.             ปลูกฝังให้เด็กมีลักษณะนิสัยที่ดีงาม รู้จักควบคุมอารมณ์ของตน รู้จักและอยู่ร่วมกับผู้
อื่นได้
3.             ส่งเสริมให้เด็กรู้จักสังเกต มีไหวพริบ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สามารถแสดงออกชื่น
ชมต่อความไพเราะ และสิ่งสวยงามต่าง ๆ
4.             ฝึกให้เด็กรู้จักใช้ประสาทสัมผัสให้สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม และเคลื่อนไหวร่างกาย
ได้อย่างถูกต้อง
5.             ให้รู้จักปฏิบัติกิจวัตรประจำวันด้วยตนเองได้
จากความมุ่งหมายข้างต้นนี้ เราจะพบว่าตามความมุ่งหมายในข้อ 2 ข้อ 3 และข้อ 4 จะ
ครอบคลุมเป้าหมายของกิจกรรมทางดนตรี ซึ่งอาจจะกล่าวได้ว่าดนตรีช่วยเสริมสร้างลักษณะนิสัยต่อไปนี้
1.             ด้านสุนทรียภาพ
2.             ด้านการแสดงออก และความเชื่อมั่นในตนเอง
3.             ด้านความคิดสร้างสรรค์
4.             ด้านจินตนาการ
5.             ด้านการทำงานร่วมกัน
6.             ด้านความประณีต
จะเห็นได้ว่าดนตรีมีบทบาทที่สำคัญต่อเด็กปฐมวัย เพราะสามารถาจัดกิจกรรมทางดนตรี
ให้เหมาะสมกับพัฒนาการ และความต้องการของเด็กซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์แก่เด็กอย่างมาก
                กล่าวโดยสรุป จุดมุ่งหมายของดนตรีสำหรับเด็กมีดังนี้
1.              ส่งเสริมการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ (Creativity) เด็กสามารถแสดงออกอย่าง
สร้างสรรค์โดยอาศัยดนตรีเป็นสื่อ เด็กสามารถแสดงออกทางความคิด ความรู้สึกอย่างอิสระในขณะเล่นดนตรี หรือเต้นไปตามจังหวะเพลง เด็กต้องการเวลา วุฒิภาวะ ทักษะ และความรู้ที่จะคิดสิ่งใหม่ ๆ ครูมีบทบาทในการส่งเสริมให้เด็กแสดงออกหลาย ๆ วิธีจากประสบการณ์เดียวกัน ให้อิสระ วัสดุอุปกรณ์ และเวลาอย่างเพียงพอแก่เด็กได้สร้างสรรค์ยอมรับเด็กทุกคน ไม่ตัดสินหรือเปรียบเทียบผลงานเด็กกับผลงานผู้ใหญ่ ครูไม่ควรชี้นำหรือบอกเด็กถึงวิธีการเคลื่อนไหว หรือวิธีการร้องเพลง เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกในวิธีของตนเอง
2.              ส่งเสริมพัฒนาการด้านสังคม (Social) ดนตรีช่วยให้เด็กรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
การร้องเพลงด้วยกันทำให้มีความรู้สึกร่วมกัน เด็กจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความสำคัญ และประสบความสำเร็จ เพลงพื้นบ้านจะช่วยสืบต่อวัฒนธรรมจากคนรุ่นก่อนไปยังคนรุ่นหลัง ๆ
3.              ส่งเสริมพัฒนาด้านร่างกาย (Physical) ดนตรีช่วยให้เด็กได้พัฒนาการทรงตัว
ความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย และการควบคุมกล้ามเนื้อใหญ่จะพัฒนาในขณะที่เด็กเคลื่อนไหว หรือเล่นดนตรีนอกจากนี้ การมีส่วนร่วมในดนตรียังช่วยให้เด็กตระหนักถึงความสามารถของร่างกายตนเอง
4.              ส่งเสริมพัฒนาการด้านสติปัญญา (Intellectual) ดนตรีเป็นเรื่องของนามธรรม
ต้องการขบวนการรับรู้ การจำ และการสร้างมโนทัศน์ การสร้างความมั่นใจ และขบวนการรับข้อมูลจะต้องอาศัยการกระทำ การหยิบสัมผัส การรวบรวม การรับรู้และจินตนาการ อันได้แก่ ทางโสตประสาท ทางจักษุสัมผัส และการเคลื่อนไหว ประการสุดท้ายคือ จากสัญลักษณ์ทางอักษร และเครื่องหมาย (Bruner.1966) ดนตรีช่วยให้เด็กพัฒนาทางสติปัญญาตามคุณสมบัติข้างต้น
5.              ส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ (Emotional) ดนตรีคือความสนุกสนาน ดนตรีช่วย
ให้เด็กเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ ได้แสดงออกจากด้านการร้องเพลง การแสดงละคร ซึ่งช่วยปลดปล่อยพลังงาน และความเครียด เด็กได้เรียนรู้ว่าดนตรีมีทั้งเศร้า สุข ขบขัน โกรธ เห็นใจ ฯลฯ
                เมื่อดนตรีมีบทบาทต่อพัฒนาการของเด็กดังกล่าว พ่อ แม่ และครูผู้สอนควรจะเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงออกทางดนตรี ผลที่จะได้คือ จะทำให้เด็กเป็นผู้ที่กล้าแสดงออก มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความคิดสร้างสรรค์ มีลีลาท่าทางที่สวยงาม เป็นผู้มีสุนทรียภาพ ฯลฯ อันจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของชาติในอนาคต

พัฒนาการด้านดนตรีของเด็กวัย 0-6 ปี
                อาจกล่าวได้ว่าพัฒนาการด้านดนตรีของมนุษย์เริ่มมีขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดาแล้ว เมื่อหัวใจของทารกในครรภ์มารดาเริ่มต้น การรับรู้เรื่องจังหวะจะเริ่มขึ้นโดยธรรมชาติ ในราว 5 เดือน เมื่ออวัยวะเกี่ยวกับการได้ยินพัฒนาเต็มที่ ทารกเริ่มรับรู้นอกเหนือไปจากสิ่งอื่น ๆ แม้ยังไม่มีการศึกษาที่มีระบบระเบียบเพื่อให้เข้าใจถึงอิทธิพลของเสียงดนตรีที่มีต่อทารกในครรภ์ แต่จากการทดลองของนักจิตวิทยาหลายคนทำให้พอกล่าวได้ว่า การเปิดเพลงให้ทารกในครรภ์ฟังมีผลเกี่ยวกับการรับรู้ทางดนตรีของเด็กไม่มากก็น้อย เมื่อเด็กลืมตาดูโลกหลังคลอดพัฒนาการด้านการรับฟังเริ่มพัฒนาไปเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับพัฒนาการด้านอื่น ๆ เด็กอายุราว 5 เดือน ถ้าได้ยินเสียงดนตรีจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยิน ซึ่งจะสังเกตได้อย่างชัดเจนทีเดียว
                เด็กอายุราว 1 ปี   มีความสามารถที่จะจับสิ่งของต่าง ๆ ได้จึงสามารถที่จะจับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องประกอบจังหวะ เช่นลูกแซกเล็ก ๆ หรือกรุ๋งกริ๋งได้ และชอบที่จะลองเขย่าเพื่อฟังเสียงที่เกิดขึ้น ถ้ามีดนตรีประกอบเด็กจะเขย่าเครื่องประกอบจังหวะที่มีอยู่ในมือ เพื่อให้เข้ากับจังหวะเพลง ซึ่งในบางครั้งอาจจะไม่เข้ากับจังหวะเพลงนัก และมักจะตอบสนองต่อดนตรีโดยการเคลื่อนไหวเต้นยักย้ายไปตามจังหวะที่ได้ยินเสมอ ๆ ถ้าผู้เลี้ยงลองร้องเพลงในขณะที่อยู่ใกล้ชิดเด็ก หรืออุ้มเด็กอยู่ เด็กจะพยายามออกเสียงร้องเพลงตามไปด้วย ซึ่งปกติมักจะเป็นเสียงที่ไม่เป็นภาษาใด ๆ ทั้งสิ้น ถ้าสังเกตให้ดีเสียงร้องที่เด็กเปล่งเสียงออกมาจะมีระดับเสียง 2-3 เสียงเป็นส่วนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับระดับเสียงแล้ว การร้องเพลง หรือเปล่งเสียงของเด็กในลักษณะนี้คล้ายกับการสวด หรือในภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Chant เด็กในระยะ 1 ปี จะตอบสนองต่อเสียงร้องของคนได้ง่ายกว่าการตอบสนองต่อเสียงดนตรีอื่น ๆ
                ย่างเข้าสู่ปีที่ 2 เด็กในวัยนี้สามารถพูดได้แล้ว การเคลื่อนไหวมีมากขึ้นสามารถจะกระโดดโลดเต้นวิ่งเดินได้อย่างดี เด็กในวัยนี้มักสนองตอบต่อดนตรีโดยการเคลื่อนไหวเสมอ เมื่อได้ยินเสียงเพลง เด็กมักจะตั้งใจฟัง พยายามจดจำทำนองที่ตนชอบ และพยายามที่จะร้องตาม ถ้าเริ่มคุ้นกับทำนองรวมทั้งเต้น หรือเคลื่อนไหวไปด้วย แม้การร้องเพลงของเด็กในช่วงอายุ 2 ถึง 3 ปี จะยังฟังดูไม่เป็นเพลงนัก แต่เด็กสามารถร้องเสียงสูงต่ำได้ดีขึ้นกว่าขวบปีแรกที่ผ่านมา แต่เนื่องจากช่วงเสียงยังแคบอยู่ จึงฟังดูเพี้ยนไปไม่เป็นทำนองนัก เด็กในวัยนี้เริ่มจะเลียนแบบการเคลื่อนไหวถ้าได้เห็น และเริ่มคิดค้นการเคลื่อนไหวเพื่อตอบสนองต่อดนตรีเอง โดยพยายามจะทำให้เข้ากับจังหวะดนตรี และบ่อยครั้งที่ดูเข้าท่าเข้าทาง นอกจากนี้เด็กยังชอบตบมือ หรือเคาะจังหวะตามจังหวะเพลงที่ได้ยินเสมอ ถ้ามีพวกเครื่องประกอบจังหวะประเภทมีระดับเสียง เช่น ระนาดเด็กเล่น เด็กจะเริ่มตีเป็นเสียง และพยายามที่จะสร้างบทเพลงของตนเองขึ้นมา โดยอาจจะร้องไปด้วย การเล่นเครื่องดนตรีประเภทนี้จะทำให้เด็กเริ่มมีแนวคิดเกี่ยวกับเสียงสูงต่ำได้เป็นอย่างดี กล่าวได้ว่าเด็กในวัยนี้มีแนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องของการพยายามจะสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ชอบทดลองค้นคว้าเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทำไมถึงแตกต่างกัน และชอบร้องเพลงในขณะเล่น ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งขึ้นมาเอง
                ย่างเข้าสู่ปีที่3 พัฒนาการด้านต่าง ๆ เจริญขึ้นเป็นลำดับ ความสามารถในการพูดจัดได้ว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้รู้เรื่อง เริ่มที่ชอบที่จะเล่นกับผู้อื่น และชอบบทบาทสมมติในการเล่น ความเป็นตัวของตัวเองมีมากขึ้น ในด้านร้องเพลงเด็กในวัยนี้มีความจดจำทำนองเพลงได้มากขึ้น และเพิ่มความสลับซับซ้อนมากขึ้น ในวัยนี้เด็กเริ่มที่จะสนองตอบต่อดนตรีได้อย่างมีความหมาย หรือเป็นไปตามลักษณะของดนตรี โดยใช้การเคลื่อนไหว เด็กจะแสดงท่าทางเข้ากับจังหวะเร็ว ช้า ของดนตรีได้เป็นอย่างดี และเริ่มจะเข้าใจเกี่ยวกับเสียงค่อย ซึ่งลักษณะเช่นนี้ยังคงเป็นความสับสนที่พบได้เสมอ แม้เด็กจะมีอายุ 6-7 ขวบแล้วก็ตาม เด็กในวัยนี้ชอบดนตรีที่มีจังหวะเร้าใจ ค่อนข้างเร็วมากกว่าดนตรีที่มีจังหวะช้า ๆ เนิบ ๆ การสร้างสรรค์ไม่ว่าจะเป็นด้านการร้องหรือการเล่นเครื่องประกอบจังหวะเป็นสิ่งที่เด็กชอบและมักกระทำอยู่เสมอในเวลาที่เด็กเล่นคนเดียว หรือเล่นกันเป็นกลุ่ม อีกสิ่งหนึ่งที่เด็กในวัยนี้ชอบ และมักกระทำคือ การแสดงความสามารถในการร้องเพลง หรือการเคลื่อนไหวประกอบดนตรีให้ผู้ใหญ่ฟังและดู ซึ่งเด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจ และพอใจถ้าได้รับคำชมเชยจากผู้ใหญ่ และจะแสดงออกเสมอ ๆ แสดงให้เห็นว่า เด็กมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ชอบที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นของตนเอง หรือแสดงความสามารถของตนให้ผู้ใหญ่เห็นและยอมรับ ถ้าได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่เสมอ ๆ เด็กจะมีความสนใจในการฟัง และสนุกสนานกับดนตรี และยอมรับดนตรีเป็นส่วนหนึ่งของการเล่น หรือกิจกรรมของตนกล่าวได้ว่า เด็กในวัยนี้มีแนวคิดเกี่ยวกับระดับเสียง จังหวะดีขึ้น เริ่มมีแนวคิดด้านทำนองความดัง ค่อย และจังหวะ ช้า เร็ว การแสดงออกมีมากขึ้น และเป็นในหลายรูปแบบ
                ย่างเข้าสู่ปีที่ 4-5 เป็นช่วยที่พัฒนาการด้านภาษาก้าวหน้าไปมากแล้ว เด็กเรียนรู้ศัพท์ต่าง ๆ มากขึ้น สามารถดัดแปลงเสริมแต่งชื่อ หรือเรื่องราวที่ได้ยินให้ผิดเพี้ยนไปได้โดยมีเค้าเดิมอยู่ เป็นช่วงที่เริ่มจะหาเพื่อนหลาย ๆ คน อย่างไรก็ตามการเล่นคนเดียวเป็นสิ่งที่เด็กในวัยนี้ยังคงชอบกระทำเช่นกับเด็กมักจะร้อง และเล่นเครื่องประกอบจังหวะร่วมกันกับเพื่อน ๆ หรือญาติรุ่นราวคราวเดียวกันได้เมื่อมีการเล่นร่วมกัน และมักจะร้องเพลงฮิตที่ได้ฟังตามวิทยุ หรือดูจากโทรทัศน์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเนื้อร้องเด็กมักจดจำได้เป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเด็กเรียนรู้ศัพท์ต่าง ๆ มากขึ้นแล้ว ในทำนองเด็กยังคงร้องเพี้ยนอยู่เพราะช่วงเสียงของเด็กยังจำกัด ถ้าเป็นเพลงง่าย ๆ ที่มีช่วงเสียงจำกัด เช่น แมงมุมลาย เด็กมักจะร้องได้โดยไม่เพี้ยน หลังจากฟังจนจบแล้ว เด็กมักจะชอบดู และจดจำเพลงโฆษณาสั้น ๆ จากทางโทรทัศน์ได้เสมอ และมักจะทำท่าประกอบไปด้วย ถ้าการโฆษณานั้นมีท่าประกอบเพลงที่มีแนวทำนองเด่นชัดไพเราะ และมีจังหวะไม่ช้าเกินไป จะเป็นเพลงที่เด็กจดจำได้ดี และจะต้องคลอเสมอ เมื่อได้ยินเพลงนั้น ๆ ด้านจังหวะมีพัฒนาการดีขึ้น สามารถเล่นจังหวะตามเพลงโดยมีรูปแบบง่าย ๆ ที่กำหนดให้ได้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่อง สูง ต่ำ ,
ดัง เบา , เร็ว ช้า เด่นชัดขึ้น ถ้าได้รับการเน้นหรือกล่าวถึงเสมอ ๆ เด็กจะเข้าใจ และสามารถร้องหรือเล่นเครื่องประกอบจังหวะให้มีลักษณะตามที่ผู้ใหญ่ หรือครูบอกได้เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเด็กสามารถแสดงออกเพื่อตอบสนองต่อดนตรีได้ดีขึ้น โดยเด็กจะแสดงท่าทางให้เข้ากับจังหวะความดัง ค่อย ที่ได้ยิน และถ้าได้รับการแนะนำชี้แจงเสมอ ๆ เด็กจะพัฒนาแนวคิดต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างสมบูรณ์ การสร้างสรรค์ท่าทางประกอบดนตรีเป็นเรื่องที่เด็กสามารถทำได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามเด็กวัยนี้ชอบที่จะเลียนแบบท่าทางที่ผู้ใหญ่หรือครูทำ และพยายามที่จะทำให้เหมือนเท่าที่ความสามารถของตนจะได้ ทัศนคติ สภาพแวดล้อมทางดนตรี รอบ ๆ ตัวเด็กเริ่มมีอิทธิพลมากขึ้น เด็กจะเริ่มถ่ายทอดค่านิยมทางดนตรีที่รู หรือพ่อแม่ชอบไว้ และเริ่มที่จะเลือกฟังเพลงที่ตนชอบ เด็กสามารถเรียนรู้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้แทนเสียงสูง ต่ำ หรือจังหวะได้บ้างแต่สัญลักษณ์เหล่านี้ ควรเป็นสัญลักษณ์ในลักษณะของรูปภาพ มิใช่สัญลักษณ์ด้านภาษา หรือสัญลักษณ์ทางดนตรีเพราะเด็กวัยนี้ยังรับรู้ ส่วนเรื่องของสัญลักษณ์ที่ใช้แทนแนวคิดไม่ได้ดีนัก แนวคิดที่เด็กรับรู้ได้คือ เรื่องของระดับเสียงสูง ต่ำ , จังหวะช้า เร็ว , ความดัง ค่อย
                นอกจากนี้ความเข้าใจในเรื่องความรู้สึก หรืออารมณ์เพลง (Mood) เพิ่มพัฒนาแล้ว เด็กสามารถจะบรรยายเพลงที่ได้ยินมีลักษณะสนุกสนาน เศร้าสร้อย หรือตื่นเต้น น่ากลัวได้ ถ้าบทเพลงที่เด็กฟังมีลักษณะของอารมณ์เพลงที่เด่นชัด การเคลื่อนไหว และการร้องเพลงจัดเป็นกิจกรรมที่เด็กในวัยนี้ชอบ และใช้แสดงออกได้เป็นอย่างดี ส่วนการฟัง จัดเป็นกิจกรรมที่ควรปลูกฝังให้เด็กมีประสบการณ์ไว้ตลอดกระบวนการเรียนการสอน เพราะเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญทางดนตรี และเด็กในวัยนี้เริ่มมีความพร้อมที่จะฟังแล้ว
                ย่างเข้าสู่ปีที่ 5-6  จัดเป็นเด็กที่มีความพร้อมที่จะเข้าไปสู่ระบบโรงเรียนประถม เด็กส่วนหนึ่งมีโอกาสในโรงเรียนอนุบาลมาแล้ว 1 ปี วัยนี้จึงเป็นวัยที่เด็กเริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมที่กว้างออกไป โดยปกติในวัยนี้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นกว่าเด็กในวัยก่อน ๆ มากความสามารถในการใช้ภาษาพัฒนาไปมาก เด็กมักจะชอบจำสำนวนภาษาที่ได้ยิน และนำมาพูดซึ่งบางครั้งก็มิได้ทราบความหมายที่แท้จริง จึงทำให้เด็กสามารถร้องเพลงยาว ๆ ที่ได้ยินเสมอ ๆ ได้ช่วงเสียงของเด็กเริ่มกว้างขึ้นจึงทำให้ร้องเพลงฟังแล้วเป็นเพลงมากขึ้น อย่างไรก็ตามช่วงเสียงก็ยังคงจำกัดอยู่ปกติ เด็กจะร้องเพลงที่มีช่วงเสียงระหว่างตัวเร (D) ถึงตัวลา (A) จากตัวโดกลาง (C Middle) ได้
                แต่การเพี้ยนยังมีอยู่ เพราะแม้เด็กจะมีแนวคิดเกี่ยวกับระดับเสียงแล้ว แต่มักจะจับเสียงไม่ถูกต้อง ในด้านจังหวะเด็กมีพัฒนาการดีขึ้น สามารถร้องเพลงได้ถูกต้องลงจังหวะ แต่ความเร็วของจังหวะ (Tempo) อาจจะไม่คงที่นัก โดยปกติมักจะชอบเร่งจังหวะให้เร็วขึ้น เด็กในวัยนี้ยังคงชอบแต่งทำนอง และเนื้อร้องเพลงขึ้นเอง และร้องเพลงไปเรื่อย ๆ ในขณะเล่น หรือปฏิบัติกิจกรรมอื่น เสมอ ๆ ชอบการเลียนแบบทั้งการร้อง และท่าทางของนักร้องที่ร้องเห็นในโทรทัศน์ หรือการแสดงดนตรีตามที่ต่าง ๆ ยังชอบจังหวะที่กระชับเร้าใจ เพลงจังหวะช้า ๆ ไม่ค่อยอยู่ในความสนใจของเด็กนัก ในด้านการฟังเด็กมีสมาธิมากขึ้น สามารถฟังเพลงที่มีความยาวมากขึ้นได้ และถ้าเป็นเพลงที่มีเรื่องราวประกอบจำพวก Program music ด้วยแล้ว เด็กสามารถฟังได้อย่างตั้งใจ สนุกสนานเล่นไปพร้อม ๆ กับเพลงที่ได้ยิน หรือเล่นรวมวงกับเพื่อน ๆ ได้ในลักษณะของ Ensemble ซึ่งจังหวะที่เล่นจะต้องเป็นจังหวะง่าย ๆ คงที่การแสดงออกโดยการเคลื่อนไหวตอบสนองต่อดนตรีมีความหมายมากขึ้น เด็กสามารถคิดท่าทางแสดงจังหวะ ระดับเสียง ความดัง ความค่อย หรืออารมณ์เพลงได้ดีขึ้น สิ่งหนึ่งที่เด็กชอบ คือ การคิดท่าทางให้เป็นไปตามความหมายของเนื้อเพลงที่ได้ยิน ทั้งนี้เนื่องจากเด็กมีความเข้าใจด้านภาษาดีขึ้น สามารถให้การเคลื่อนไหวเป็นสื่อในการแสดงออกถึงความหมายของภาษาที่ได้ยินในเพลงได้
                ในด้านแนวคิดดนตรี เด็กเริ่มมีความเข้าใจถึงระดับเสียงสูงต่ำที่แตกต่างกัน หรือความ
ดัง ค่อย ในระดับต่าง ๆ กันดีขึ้น รวมไปถึงความเร็วของจังหวะต่าง ๆ การใช้เคลื่อนไหวเข้ามาช่วยให้เด็กรับรู้เกี่ยวกับแนวคิดดนตรีเหล่านี้เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กเกิดแนวคิด และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเหล่านี้ดีขึ้น โดยเฉพาะถ้าเด็กมีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ ซ้ำ ๆ กันหลาย ๆ วาระ ระหว่างช่วงการเรียนจะทำให้เด็กเรียนรู้แนวคิดต่าง ๆ ทางดนตรีดีขึ้น เช่น การร้องเพลง ๆ หนึ่ง เสมอ ๆ ไม่ว่าคุณภาพเสียง เช่น เสียงสั่น เสียงยาว เสียงค่อย ๆ ดัง หรือ ค่อย ๆ เบาลง (Crescendo, Diminuendo) เป็นสิ่งที่เด็กสามารถเข้าใจได้ และสามารถอ่านสัญลักษณ์แทนคุณสมบัติของเสียงเหล่านี้ได้ในลักษณะของ Pictorial Representation หรือสัญลักษณ์ที่ง่าย ๆ มีลักษณะไม่ซ้ำซ้อน หรือยุ่งเหยิง เด็กในวัยนี้เริ่มที่จะใช้สัญลักษณ์ที่ตนคุ้นเคยมาสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ ๆ ในลักษณะของการประพันธ์ (Composing) ง่าย ๆ ได้ เช่น การนำสัญลักษณ์ของจังหวะมาสร้างเป็นรูปแบบพร้อมด้านทักษะดนตรีโดยสามารถฟัง ร้อง เล่นเครื่องประกอบจังหวะ สร้างสรรค์ท่าทาง และเข้าใจความหมายของจังหวะ สั้น ยาว, เร็ว ช้า, ค่อย ๆ เร็ว, ค่อย ๆ ช้า ด้านคุณภาพเสียงสามารถแยกแยะเสียงเครื่องดนตรีที่คุ้นเคยได้ รู้จักเสียงดัง เบา, ค่อย ๆ ดัง, ค่อย ๆ เบา และสามารถถ่ายทอดอารมณ์เพลงออกมาเป็นท่าทาง หรือการบรรยายชัดเจนมากขึ้น
                สิ่งที่ควรกล่าวถึงอีกประการคือ การใช้เสียงร้องของเด็กปกติมักจะร้องเพลงโดยใช้เสียงลักษณะการพูดซึ่งเป็นเสียงหนัก และมักจะตะโกน ถ้าต้องการให้ร้องดัง ครูหรือผู้ใกล้ชิด เด็กควรบอกให้เด็กร้องโดยใช้เสียงพูด หรือ Speaking Voice ในการร้องเพลงซึ่งฟังแล้วไพเราะน่าฟังกว่า และแม้จะร้องดังก็ไม่เป็นลักษณะของการตะโกนแต่อย่างใด

ความหมายและขอบข่ายของดนตรี
ดนตรีมีความหมายครอบคลุมถึงกิจกรรมต่อไปนี้
1.  การร้องเพลง
2.  การฟังดนตรีหรือเสียงเพลง
3.  การจัดระบบเสียงดนตรี
4.  การละเล่นที่ใช้ดนตรีหรือเพลงประกอบ
5.  การเคลื่อนไหวประกอบดนตรี
6.  ความคิดสร้างสรรค์ทางด้านดนตรี

บทบาทของดนตรี
1.  เป็นสื่อของกิจกรรม
2.  ปรับพฤติกรรมตัวเอง
3.  หล่อหลอมจิตใจ
4.  สร้างเสริมความคิดสร้างสรรค์
5.  เสริมค่านิยมของสังคม
                6.  ดนตรีเสริมความมีระเบียบวินัย มีวินัยในตนเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น